คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

TH
EN

เบื้องหลัง ‘ความงาม’ ที่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไม่อยากบอกคุณ

ว่ากันว่าหนึ่งในวิธีการขอบคุณตัวเองที่ดีสุด คือการลงทุนกับตัวเอง ซึ่งไม่ได้มีเพียงการเสาะแสวงหาความรู้เพื่อลับตนให้คมอยู่เสมอเท่านั้น การลงทุนกับสุขภาพร่างกายและความงามซึ่งเป็นภาชนะห่อหุ้มจิตวิญญาณของเราในทุก ๆ วัน ก็เป็นการขอบคุณและเสริมสร้างความมั่นใจที่มีแต่ได้กับได้เช่นกัน

.

เมื่อคนส่วนใหญ่ลืมตาจากภวังค์แห่งความฝัน สิ่งแรกที่หลายคนทำคือการเอื้อมมือไปหยิบโทรศัพท์ที่ข้างเตียงนอน แล้วเข้าโซเชียลมีเดียเพื่ออัพเดตข่าวสาร โดยที่ไม่รู้ตัว โฆษณานับหมื่นชิ้นก็ได้ไหลผ่านตาของคุณไป มิหนำซ้ำหน้าฟีดข่าวของคุณยังเต็มไปด้วยภาพดาราสาวสวยร่างเพรียวสุดจะเพอร์เฟค หนุ่มนายแบบหน้าเกลี้ยงเกลาหุ่นกำยำ คุณจึงตัดสินใจว่าวันนี้จะไปซื้อครีมลดจุดด่างดำมาอีกหลอดหนึ่งจากร้านใกล้บ้าน จะได้หน้าสวยใสปิ๊งเหมือนหนุ่มนายแบบบ้าง

.

เหตุไฉนเพียงเสี้ยววินาที โฆษณาเกี่ยวกับความงามสารพัดจึงส่งผลกับคุณได้มากขนาดนี้ ?

.

และยิ่งลงทุนกับเครื่องสำอางไปเท่าไหร่ ทำไมหลายคนกลับยังไม่สามารถสัมผัสถึงความพอใจในจุดที่พอดีกับตัวเองได้สักที ?

.

จากความสะอาดสู่ความงาม

.

หากจะเริ่มต้นจากที่ไหนสักแห่ง ความต้องการที่จะสร้างความสะอาดและมีอนามัย ได้พัฒนาไปสู่ ‘ความงาม’ ที่ผู้คนมากมายตอบรับไปโดยไม่รู้ตัว

.

เจ้าก้อนไขมันสี่เหลี่ยมมีฟอง หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘สบู่’ ซึ่งไม่อาจระบุต้นกำเนิดที่แน่ชัดได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ย้อนไปไกลได้ถึง 2,800 ปีก่อนคริสตกาลในอาณาจักรบาบิโลนยุคเมโสโปเตเมีย สิ่งนี้ถูกใช้ทำความสะอาดทั่วไปในครัวเรือน ก่อนที่มันจะได้รับความนิยมนำมาใช้ชำระความสกปรกของร่างกาย

.

กระทั่งเมื่อมีข้อยืนยันทางการแพทย์ว่า ‘แบคทีเรีย’ คือตัวการของโรคภัย จึงเกิดการผลักดันการพัฒนาด้านสุขอนามัยและการสุขาภิบาลในโลกตะวันตก หลังสิ้นสุดการระบาดของอหิวาตกโรคที่คร่าชีวิตผู้คนนับล้านในศตวรรษที่ 18 ซึ่งทำให้สบู่กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสะอาด และถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น

.

และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการซื้อสบู่มาใช้อย่างแพร่หลาย จึงมีการผลิตสบู่หลากชนิด ทั้งแบบเพื่อความงามราคาแพง หรือสบู่เพื่อชนชั้นแรงงานที่จำหน่ายในราคาถูก โดยสินค้าทั้งสองชิ้นไม่มีความแตกต่างในด้านสรรพคุณเลย แต่สิ่งที่ทำให้มันแตกต่างกันก็คือวิธีทำการตลาด ทั้งการนำบุคคลมีชื่อเสียงมาสนับสนุนผลิตภัณฑ์ การใช้เพศเป็นจุดขาย การสร้างสัญลักษณ์ความศิวิไลซ์ การใช้ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อ้างอิงที่เข้าใจได้ยาก และการสร้างความรู้สึกเหนือกว่าของความขาว ด้วยการนำเชื้อชาติและสีผิวที่แตกต่างเปรียบเทียบมาเป็นจุดขาย เป็นต้น

.

การตื่นตัวเรื่องสุขอนามัยที่กล่าวมานั้น สอดคล้องกับสิ่งที่ มิเชล ฟูโก (Michel Foucault) นักปรัชญาและนักทฤษฎีสังคมชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวถึงแนวคิดเรื่อง ‘อำนาจ (Biopower)’ ที่เข้ามาควบคุมชีวิตทางอ้อม ว่าเกิดจากการปลูกฝังด้วยภาษาจนเกิดวาทกรรมของคนกลุ่มหนึ่งผ่านสังคมหรือสถาบันต่าง ๆ เช่น สื่อ ดารา อินฟลูเอนเซอร์และโฆษณา จนสร้างวินัยในการควบคุมตนให้อยู่ภายใต้อำนาจ ซึ่งในที่นี้คือ ‘มาตรฐานความงาม (Beauty Standard)’

.

มาตรฐานความงามทำให้สังคมมุ่งเสาะหาแต่ความปกติที่ถูกสร้างขึ้น ทำให้คนพยายามเป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง และสวนครรลองของสังคมด้วยการทำให้สิ่งที่เป็นธรรมชาติในตัวของเราอย่าง สิว รูปร่าง และ สีผิว กลับกลายเป็นโรคร้ายที่ต้องถูกกำจัดทิ้ง เพื่อจะได้อยู่ร่วมกับผู้อื่นโดยไม่รู้สึกไม่แปลกแยก

.

เพื่อความงามจนมองข้ามธรรมชาติ

.

‘ผิวหนัง’ คืออวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่ป้องกันกล้ามเนื้อ กระดูก เอ็น และอวัยวะภายใน เสมือนกำแพงอิฐที่ปกป้องไม่ให้ส่วนอื่น ๆ ถูกรุกรานจากสิ่งที่เป็นอันตรายกับตัวเราได้

.

มนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดจะมีขนที่ผิวหนัง และที่บริเวณฐานของเส้นขนจะเป็นต่อมรูขุมขนที่ปล่อยสารคล้ายกับขี้ผึ้ง เรียกว่าซีบัม (Sebum) ทำหน้าที่ช่วยปกป้องหล่อลื่นผิว ทำให้ผิวมีสภาพเป็นกรดอ่อน ประมาณระดับ pH5.5 ซึ่งจะช่วยควบคุมสมดุลการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ประจำถิ่น (Microflora) และทำให้แบคทีเรียหรือจุลชีพที่ก่อโรคเติบโตได้ยาก

.

แต่เมื่อเราเริ่มใช้สบู่เพื่อทำความสะอาดทุกส่วนในร่างกาย ในด้านหนึ่งสบู่เป็นสารเคมีที่มีค่าความเป็นด่างสูง ประมาณ pH8-10 จึงมีคุณสมบัติช่วยกำจัดสิ่งสกปรก สารเคมีระคายเคืองผิว มลพิษ และจุลินทรีย์ที่ก่อโรค แต่อีกด้านสบู่ได้เปลี่ยนค่าความเป็นกรดหรือด่างบนผิว ทำให้ผิวเสียสมดุล และขัดขวางการเติบโตของผู้อาศัยตัวเล็กที่มีประโยชน์อย่างจุลินทรีย์บนผิวหนัง ด้วยเหตุนี้เมื่อเราชำระร่างกายด้วยสบู่ ไม่ว่าจะชนิดก้อนหรือเหลว จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงรู้สึกผิวแห้งและคันหลังอาบน้ำ แต่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 30 นาทีเท่านั้น ก่อนกลับสู่สภาวะเดิม

.

จากเรื่องดังกล่าว แบรนด์เครื่องสำอางจึงเล็งเห็นโอกาสต่อยอด และเข็นสินค้าแบบที่ใช้เป็นชุดออกมาชักชวนให้เราซื้อมาใช้ควบคู่กันเพื่อดูแลผิวพรรณ ซึ่งเป็นธรรมดาที่ผู้บริโภคจะคาดหวังว่าผลิตภัณฑ์ที่แบรนด์แนะนำให้ใช้จะให้ผลลัพธ์ที่ดี แต่บางครั้งก็ต้องแลกกับค่าใช้ข่ายจากราคาที่สูงของผลิตภัณฑ์ มิหนำซ้ำก็อาจเกิดอาการแพ้ เนื่องจากในบางผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของสารที่ก่อให้เกิดการระคายผิว อย่าง เอสเซนเชียลออยล์ น้ำหอม แอลกอฮอล์ และซิลิโคน หรือเพราะใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจำนวนมากเกินไปจนผิวรับไม่ไหว

.

แล้วเราจะเชื่อคำที่โฆษณารับประกันได้มากแค่ไหน ? และเคล็ดลับของการสร้างสุขภาพที่ดีนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ ?

.

ปล่อยให้กลไของผิวได้ทำงาน

.

ในความเป็นจริงแล้ว ผิวของเรานั้นมีกระบวนการทำงานของมันเองตามธรรมชาติ การใช้ผลิตภัณฑ์จำนวนมากเกินไป จึงเป็นการรบกวนการทำงานของผิวมากกว่าที่จะบรุงอย่างที่หลายคนคิด

.

เคล็ดลับของการมีผิวสุขภาพดี คือจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ไม่ควรเกิน 6-7 อย่าง และควรปล่อยให้กลไกของผิวได้ทำหน้าที่ของมันเอง นอกจากนี้ผิวยังสะท้อนสภาวะของร่างกาย จึงควรกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดื่มน้ำ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพความต้องการของแต่ละบุคคลด้วย

.

หนึ่งในข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ได้รับความสนใจและถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง คือ ‘กิจวัตรการดูแลผิว 10 ขั้นตอนในแบบคนเกาหลี (10-Step Korean Skincare Routine)’ ที่ถูกบัญญติขึ้นโดย ชาร์ลอต โช (Charlotte Cho) ผู้บริหารของ Soko Glam ตลาดออนไลน์ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของเกาหลีหรือ K-Beauty ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

.

แล้วกิจวัตร 10 ขั้นตอนคืออะไร ? ทีมงานของ Soko Glam ให้คำอธิบายว่า “ขั้นตอนแรกคือทำความสะอาดหน้าด้วยคลีนซิ่งออยล์ ตามด้วยคลีนซิ่งที่มีเนื้อเป็นน้ำ เจล หรือครีม เพราะขั้นตอนแบบเกาหลีเชื่อมั่นในการทำความสะอาดสองครั้ง หลังจากนี้จะมีการลงผลัดเซลล์ผิว ปรับสีผิวด้วยโทนเนอร์ และทาเอสเซนส์ จากนั้นคือส่วนที่สนุกอย่างการมาส์กหน้า และหลังจากที่คุณเพลิดเพลินไปกับการมาสค์หน้าแล้ว ก็ถึงเวลาทาครีมบำรุงรอบดวงตา มอยส์เจอไรเซอร์ และปิดท้ายด้วยสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือครีมกันแดด”

.

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากิจวัตร 10 ขั้นตอนจะเป็นที่นิยมในเกาหลี แต่คนเกาหลีเองก็มีการเลือกใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นเท่านั้นเช่นกัน แต่เรื่องนี้มักจะถูกนำเสนอซ้ำ ๆ จนเกิดความเข้าใจผิดว่าต้องปฏิบัติให้ครบทุกขั้นตอน ทาง Soko Glam ได้อธิบายว่าขั้นตอนทั้งหมดไม่ได้หมายถึงการต้องซื้อผลิตภัณฑ์มากมายมาครอบครอง แต่เกี่ยวกับการมีผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาพผิวและความต้องการของแต่ละคน

.

ด้าน คริสตินา โฮลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผิวในซานฟรานซิสโก กล่าวกับนิวยอร์กไทมส์ว่า เป้าหมายของการดูแลผิวคือการปรับสภาพผิวให้ทำงานได้ดี และแก้ปัญหาในส่วนที่เราต้องการ “กิจวัตรด้านความงามคือโอกาสที่จะสังเกตความเปลี่ยนแปลงในตัวคุณ เพราะผิวของเราเปลี่ยนแปลงไปตามอายุดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องของการสร้างความสมบูรณ์แบบ แต่เป็นการปล่อยให้ขั้นตอนการดูแลผิวต่าง ๆ กลายเป็นกิจวัตรช่วยเสริมสร้างผิวของคุณให้ดีขึ้นในแต่ละวัน”

.

‘คนไทย’ ลูกค้าชั้นดีของอุตสาหกรรมความงาม

.

ประเทศไทยเป็นอีกประเทศที่ให้ความสำคัญกับความงามเป็นอันดับต้น ๆ Euromonitor บริษัทที่ทำการสำรวจสถิติและข้อมูลต่าง ๆ ทางการตลาด เปิดเผยข้อมูลการบริโภคผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมความงามของคนไทยในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งมีมูลค่ารวม 1.447 แสนล้านบาท แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (Skincare) ร้อยละ 57.5 ผลิตภัณฑ์ผม (Hair) ร้อยละ 21 เครื่องสำอาง (Makeup) ร้อยละ 15.5% และน้ำหอม (Fragrance) ร้อยละ 6

.

แม้ว่าในช่วงเวลาที่ทำการสำรวจ จะเป็นช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ปริมาณการใช้เครื่องสำอางก็ยังเติบโตขึ้นร้อยละ 5 แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการดูแลผิวและความงามของคนไทยได้อย่างชัดเจน

.

ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงมูลค่าจากการเครื่องสำอางในระดับเคาน์เตอร์แบรนด์เท่านั้น และด้วยความที่ราคาผลิตภัณฑ์ความงามที่จำหน่ายในไทยมีราคาค่อนข้างสูง สวนทางกับรายได้ของผู้บริโภคบางส่วน สังคมไทยจึงประสบปัญหาเครื่องสำอางปลอม และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานจำหน่ายในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก

.

ในปี 2553 และปี 2564 เคยเกิดการระบาดของครีมที่อ้างสรรพคุณว่าช่วยทำให้ผิวขาว โดยพบผู้เสียชีวิตจากการแพ้สารปรอทที่อยู่ในครีม ซึ่งส่งผลทำให้ตับวายและเสียชีวิตในที่สุด ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ระบุถึงสารเคมีอันตราย 4 ชนิด ที่มักพบในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงาม ได้แก่ ‘ปรอท’ ที่มีผลทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ไตอักเสบ ‘สารไฮโดรควิโนน’ ที่อาจทำให้เกิดฝ้าถาวร และเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง ‘กรดวิตามินเอ’ ซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ และ ‘สเตียรอยด์’ ที่จะส่งผลให้จะเกิดอาการด่างขาวหากใช้เป็นเวลานาน

.

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคำเตือนเพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักถึงอันตรายของเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานและใช้สิ่งเหล่านี้อย่างระมัดระวัง แต่ในความเป็นจริง จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงมีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานและมีสารอันตรายจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดและบนโลกออนไลน์ โดยที่คนส่วนหนึ่งก็ยังคงซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาใช้โดยไม่ได้ไม่ตระหนักถึงอันตรายที่ซ่อนอยู่

.

สิ่งที่ต้องแลกเพื่อให้ได้ ‘ความงาม’

.

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติสูง แต่กระนั้นสังคมไทยก็มีค่านิยมหรือกรอบความงามต่อตัวบุคคลที่ถูกสร้างขึ้นชัดเจน นั่นคือ ‘ความขาว’ ซึ่งทำให้คนที่มีสีผิวคล้ำรู้สึกแปลกแยก และต้องหาทางทำให้ตนเองดูขาวขึ้น มาตรฐานความงามนี้เปิดโอกาสให้คนรู้จัก เพื่อน ญาติสนิท หรือคนในครอบครัวหยิบยกมาเป็นประเด็นสนทนา ที่หลายครั้งก็ทำร้ายจิตใจผู้ฟัง ทำให้ผู้ฟังขาดความมั่นใจ และเกิดความไม่สบายใจทุกครั้งที่ต้องอยู่ท่ามกลางคนรู้จักที่กล่าวถึงรูปลักษณ์ของตนเอง

.

ชิษณุชา ตุ๊เสงี่ยม เป็นนักศึกษาหนุ่มที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเสริมความมั่นใจตามค่านิยมความขาว เขาเล่าว่า “ที่บ้านเป็นครอบครัวคนจีน ฝั่งแม่จะผิวขาวกัน แล้วเขามักจะพูดว่าเราเป็นลูกที่เก็บมาเลี้ยงหรือเปล่า พอโตมาก็มาเจอกับสังคมมัธยม ไปคุยกับใคร ไปชอบใครก็ไม่มีใครชอบกลับ เลยคิดว่าเป็นเพราะเราตัวดำหรือเปล่า หน้าตาไม่ดีหรือเปล่า”

.

ความไม่พึงพอใจในสีผิวของตัวเอง ทำให้ชิษณุชาตัดสินใจทดลองใช้ครีมตามท้องตลาดที่ระบุสรรพคุณว่าช่วยให้ผิวขาวขึ้น รวมทั้งมีการกินอาหารเสริมและเข้าคลินิกเสริมความงาม ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือผิวที่ขาวขึ้นทันตาอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่เดือน แต่ภายหลังเมื่อได้ทราบว่าความขาวที่ได้มานั้น เกิดขึ้นเพราะในครีมที่ใช้มีสารปรอทผสมอยู่ ซึ่งทำให้ผิวของเขาบางและไวต่อแสง ส่วนการที่สิวหายไว เป็นเพราะที่คลินิกมีการใช้สารสเตียรอยด์ในการรักษา ทำให้เขาจึงตัดสินใจเลิกทำทุกอย่างและปรึกษาแม่ ก่อนจะเข้ารับการตรวจจากแพทย์ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่ทำไปส่งผลกับร่างกายของเขาอย่างไรบ้าง

.

“หมอบอกว่าเพิ่งอายุ 16 เอง เด็กอายุเท่านี้ค่าไตไม่ควรจะเยอะขนาดนี้ ค่าไตควรจะเป็น 0 หรือ 1 แต่ค่าไตเราขี้น ไป 7-8 ซึ่งมันเกินไปมาก เราเลยต้องแอดมิตนอนโรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน พอออกจากโรงพยาบาลชีวิตเราก็เปลี่ยนไปเลย”

.

ผลจากเรื่องดังกล่าว ทำให้ชิษณุชาต้องเข้ารับการฟอกไตและเปลี่ยนไต ซึ่งยังคงส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของเขามาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนั้นเรื่องนี้ยังทำให้เขาเคยรู้สึกท้อแท้กับชีวิตจนถึงขั้นเกือบฆ่าตัวตาย แต่เมื่อได้ยินคำตอบจากคนรักและได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง มุมมองที่มีต่อความงามจึงเปลี่ยนไป “เราหยุดทุกอย่าง แล้วมีแฟนคนแรก เลยถามว่าเธอโอเคไหมที่เรามีสิว แฟนก็ตอบว่าโอเคสิ เราก็เลยรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น”

.

ชิษณุชามีคำแนะนำที่อยากส่งต่อไปสู่คนที่รู้สึกไม่มั่นใจในรูปลักษณ์ของตัวเอง และพยายามแสวงหาวิธีการที่จะทำให้ตัวเองดูสวยดูดีขึ้นว่า “การดูแลตัวเองเป็นเรื่องที่ไม่ผิด แต่ไม่อยากให้ยึดติดกับความขาวเพียงอย่างเดียว การที่หน้าตาดีทำให้เรามั่นใจก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่เรารู้สึกว่าการเป็นตัวของตัวเองมันก็ดีอยู่แล้ว

.

“ถ้ายังไม่พอใจกับตัวเอง อาจจะรักษาให้ผิวดีขึ้น แต่ไม่ควรไปซื้อครีมที่ขายในอินเทอร์เน็ตหรือตามท้องตลาดที่ไม่มั่นใจในที่มา เพราะแม้ว่ามันจะดูปลอดภัย แต่เขาอาจจะจะใส่สารอะไรที่อันตรายลงไป หรือว่าเป็นสินค้าปลอมก็ได้ ทางที่ดีคือควรใช้ หากมีข้อสงสัยควรไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัช หรือไปโรงพยาบาลผิวหนังจะดีที่สุด”

.

เมื่อ ‘ความงาม’ ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว

.

ตั้งแต่คลื่นแห่งโลกาภิวัตน์ลูกแรกถาโถมสู่ประชาคมโลกในศตวรรษที่ 19 จนมาถึงยุคปัจจุบันที่การสื่อสารทำให้คนที่อยู่ห่างกันครึ่งซักโลกได้ใกล้ชิดกัน ระยะทางและความแตกต่างทางวัฒนธรรมก็กลายเป็นเหมือนเส้นบาง ๆ เราต่างเปิดรับความหลากหลายที่ทำให้โลกทัศน์กว้างขึ้นและเปลี่ยนมุมมองของใครหลาย ๆ คน ในเรื่องความงามก็เช่นกัน เราได้เห็นความงามหลากหลายรูปแบบที่ทำให้ความแตกต่างเป็นเรื่องปกติ

.

มาตรฐานความงามหลายอย่างมีมาอย่างยาวนาน ฝังรากลึกในสังคม และยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดโดยอุตสาหกรรมความงามเพื่อให้ผู้คนซื้อหาซื้อผลิตภัณฑ์มาใช้ แต่ความหลากหลายของปัจเจกบุคคล และการแบ่งปันความคิดเห็นในเรื่องสิทธิส่วนบุคคลก็มีมากขึ้นเช่นกัน ทุกคนต่างมีความชื่นชอบส่วนตัว ดังนั้นไม่ควรมีใครต้องรู้สึกกดดันหรือรู้สึกผิดหากตนเองไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่เป็นไปตามมาตรฐาน

.

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิดด้วยเช่นกัน ถ้าหากใครสักคนจะอยากมีผิวขาว อยากที่จะสวยมีผิวสุขภาพดี เพราะความสวยงามก็เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ เพียงแต่ความสวยงามนั้นไม่ควรเป็นไปเพราะการทำตามค่านิยม หากควรเกิดจากการรู้เท่าทัน ศึกษา และเรียนรู้ว่าสิ่งใดที่เหมาะกับตัวเอง รวมทั้งรักในตัวตนของตัวเองให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้หลงเชื่อตามกลไกการตลาดและค่านิยมเกี่ยวกับความงามที่ถูกสร้างโดยคนกลุ่มเดียว

.

เพราะ Beauty หรือความงามนั้นไม่ผิด แต่ Standard อย่างหนึ่งอย่างใด และคนที่เชิดชูมันโดยไม่สนใจธรรมชาติและความแตกต่างของแต่ละบุคคลต่างหาก ที่สร้างความเจ็บปวดให้คนอื่นและตัวเอง

.

ข้อมูลอ้างอิง

  • Anonymous. (2013). The History of Soap. จาก https://www.stenderscosmetics.com/en/articles/soaps-history
  • Cole, A. (Producer) 2018. Netflix Vox Explain (Television Series Episode). Vox Media.
  • Kari Molvar, (n.d). How to Build a Skin Care Routine. Retrieved 16 August 2022, จาก https://www.nytimes.com/guides/tmagazine/skincare-routine
  • Marketeer Team (2021). ลอรีอัล ประเทศไทย มั่นใจตลาดความงามกลับมารุ่ง Beauty Tech ตัวหนุน. จาก https://marketeeronline.co/archives/266777
  • Nicole Baylock (2021). How the Korean 10-Step Skincare Routine Evolved into Skincare Minimalism. จาก https://www.verygoodlight.com/2021/02/26/korean-skincare-routineminimalism/
  • ทักษอร ภุชงประเวศ. ความคลั่งผิวขาวในสังคมไทย (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558), หน้า 2-22.
  • ไม่ระบุผู้เขียน (ม.ป.ท.). ค่า pH คืออะไร. จาก https://sebamedthai.com/ph5-5/
  • วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. มูลนิธิวิกิมีเดีย. จาก http://th.wikipedia.org/wiki/สบู่
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (2564). อย. เตือนอย่าใช้ครีมเถื่อน อ้างขาวใส อันตรายถึงตาย. จาก https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/153277/
  • ชิษณุชา ตุ๊เสงี่ยม : สัมภาษณ์

.

.

เรื่อง : ภาสกร คณารีย์

ภาพ : Envato

บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest

เบื้องหลัง ‘ความงาม’ ที่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไม่อยากบอกคุณ

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Newsletter
Lorem ipsum dolor sit amet conse ctetur adipisicing elit, sed do eiusmod.