คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

TH
EN

ทำไม PrEP และ PEP ถึงไม่ Pop? : เมื่อกลุ่มเสี่ยง ‘เข้าไม่ถึง’ และ ‘ไม่อยากเข้าถึง’ ยาต้าน HIV

ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำหนดให้ ‘โรคเอดส์’ เป็นวาระแห่งชาติ และมีเป้าหมายที่จะยุติปัญหาเอดส์ภายในปี พศ. 2573 โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อเอดส์เพิ่มขึ้นอีกในปีดังกล่าว

.

ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์รวมข้อมูลสาระสนเทศด้านเอชไอวีของประเทศไทย ระบุว่าจากการคาดประมาณในปี 2564 คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ประมาณ 6,500 คน/ปี หรือเฉลี่ย 18 คน/วัน ผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ ประมาณ 9,300 ราย/ปี หรือเฉลี่ย 26 ราย/วัน และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ ประมาณ 520,000 คน

.

นับตั้งแต่พบผู้ป่วยโรคเอดส์รายแรกในปี พ.ศ. 2527 เป็นเวลากว่า 38 ปีแล้วที่ประเทศไทยต้องต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว ซึ่งแม้ว่าผู้คนในสังคมจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘โรคเอดส์’ และ ‘เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)’ ว่ามีความแตกต่างกัน รวมถึงมีความรู้ช่องเกี่ยวกับการติดต่อของโรคและการป้องกันตนไม่ให้ติดเชื้อ จนทำให้จำนวนผู้ติดเชื่อและผู้ป่วยลดลง เพียงแต่เมื่อเทียบกับเป้าหมาย การรณรงค์ป้องกัน รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาเชิงรุก โรคเอดส์ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก เช่นเดียวกับช่องว่างของการสื่อสารและเข้าถึงผู้ที่มีความเสี่ยงที่ยังคงสูงอยู่

.

แม้ว่ามีข้อมูลล่าสุดที่ระบุว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี อาจสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสเข้าถึงการรักษาเช่นนั้นได้ ดังนั้นสำหรับคนส่วนใหญ่ การป้องกันตนไม่ให้ติดเชื้อย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการรักษาตัวเมื่อติดเชื้อหรือเป็นโรค และนวัตกรรมที่ช่วยลดการติดเชื้อเอชไอวีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ได้แก่ ยา PrEP และยา PEP

.

PrEp และ PEP คืออะไร?

.

เพร็พ (PrEP : Pre Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสที่ป้องกันการติดชื้อเอชไอวีในผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบ โดยเริ่มใช้ตรียมไว้ก่อนจะมีโอกาสสัมผัสเชื้อ และใช้ต่อเนื่องไปจนหมดโอกาสนั้น

.

ส่วน เพ็พ (PEP : Post-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสฉุกเฉิน สำหรับผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบ ที่เพิ่งสัมผัสเชื้อมาในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งยาทั้งสองชนิดนี้มีวิธีการใช้งานที่แตกต่างกัน อีกทั้งก่อนรับยา ผู้รับยาจะต้องมีการตรวจผลเลือดก่อนทุกครั้ง

.

ปัจจุบันมี 97 ประเทศทั่วโลกที่การประกาศให้ยา PrEP และ PEP เป็นยาพื้นฐานเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเอดส์ และในหลายประเทศมีผู้ใช้ยาเหล่านี้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ในปนระเทศไทย เป็นเวลากว่า 8 ปีแล้วที่มีการใช้ยา PrEP โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ปรับปรุงการให้บริการยา PrEP ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 และมีหน่วยบริการของทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการ 154 แห่ง จาก 56 จังหวัด

.

จากข้อมูลดังกล่าาว จะเห็นได้ว่าในประเทศไทยมีการให้บริการยา PrEP และ PEP ฟรีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มประชากรได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม แม้หน่วยให้บริการยา PrEP และ PEP จะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้รับบริการยา PrEP กลับไม่เพิ่มตาม โดยผลสำรวจล่าสุดของ PrEPwatch พบว่าตัวเลขจำนวนผู้ใช้สะสมอยู่ที่ 51,072 คน ซึ่งถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรกลุ่มเสี่ยงและอัตราการติดเชื้อของผู้ติดเชื้อรายใหม่ และกลายเป็นคำถามว่า ทำไม PrEP และ PEP ถึงไม่เป็นที่นิยมคนผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี

.

ทำไม PrEP และ PEP ถึงไม่ Pop

.

นักศึกษาหนุ่มอายุ 20 ปี ผู้เคยใช้บริการคลินิกนิรนาม หน่วยให้บริการยา PrEP และ PEP ของสภากาชาดไทย เปิดว่าจากประสบการณ์ของตนเอง การให้บริการขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการยา PrEP และ PEP นั้นดีมาก เป็นความลับและรวดเร็วพอสมควร เพียงแต่ติดปัญหาเรื่องของพื้นที่ให้บริการที่หาเจอได้ยากและอยู่ไกล

.

“ตอนที่ตัดสินใจจะไปรับยา PEP เราหาที่รับยาได้ยากมาก ขนาดเราอยู่ในเขตกรุงเทพฯ เหมือนไม่รู้แหล่ง เพื่อนที่แนะนำก็อยู่คนละที่ เราเสิร์ชหาจากในอินเทอร์เน็ตเยอะมาก คือมีเยอะนะแต่มันไม่ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ จะไปกระจุกอยู่เป็นที่มากกว่า บางทีก็เดินทางยาก สำหรับเรารับยา PEP ที่คลินิกนิรนาม ซึ่งเขาก็ให้บริการค่อนข้างดี เป็นความลับ มีการตรวจเลือดและให้คำปรึกษาต่างๆ”

.

จากรณีตัวอย่างข้างต้น คุณฐาปนา ปาสันทราย เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาด้าน HIV มูลนิธิเอ็มพลัส (MPLUS) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการยา PrEP และ PEP เห็นด้วยว่าสถานให้บริการยา PrEP และ PEP ในประเทศไทยยังมีไม่ทั่วถึง แม้ดูเหมือนจะมีจำนวนมาก แต่ว่ากลับไปกระจุกตัวอยู่ตามในตัวเมือง ทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือชนบทไม่สามารถเข้าถึงยาได้หรือเข้าถึงได้ยาก

.

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ PrEP และ PEP ไม่เป็นที่นิยม คือ พื้นฐานความเข้าใจในเรื่องทางเพศของสังคมไทย รวมถึงการปลูกฝังและค่านิยมในเรื่องเพศที่ผิด

.

“บริบทเรื่องพื้นที่มีผลต่อความนิยมของ PrEP และ PEP เพราะสถานให้บริการยังมีไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง อีกทั้งการประชาสัมพันธ์ก็ไม่ทั่วถึง ทำให้คนเข้าไม่ถึงและไม่รู้แหล่งให้บริการ นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ PrEP และ PEP ไม่เป็นที่นิยม เป็นเพราะความเข้าใจเรื่องทางเพศในสังคมไทยยังน้อย สังคมไทยมักทำให้การพูดเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย ไม่ปกติ ทำให้คนไม่กล้าพูดเรื่องทางเพศ ไม่อยากเข้ามาปรึกษา เมื่อไม่มาหาเรา การที่เราจะเข้าไปหาพวกเขาและให้ความรู้นั้นยิ่งยากกว่า และยังรวมถึงมีการรังเกียจผู้ติดเชื้อเอดส์ หรือมองว่าคนที่กินยาเหล่านี้เป็นคนสำส่อนทางเพศ นั่นทำให้คนยิ่งไม่กล้าเข้ารับบริการ” คุณฐาปนากล่าว

.

เรื่องทางเพศ เพราะรู้แต่ไม่เข้าใจจึงเป็นปัญหา

.

การปลูกฝังเรื่องค่านิยมทางเพศ เป็นอีกปัญหาที่คุณฐาปนาเห็นว่าเป็นต้นตอของปัญหา และมีผลต่อความนิยมใการใช้ยา PrEP และ PEP เนื่องจากในระบบการศึกษามักสอนเด็กให้รู้ถึงลักษณะของอวัยวะเพศ การมีเพศสัมพันธ์ แต่ไม่สอนให้เด็กและเยาวชนเข้าใจพื้นฐานเรื่องเพศ อารมณ์ทางเพศ และการต่อรองกับคู่นอนอย่างจริงจัง ทำให้เวลาเกิดปัญหาหรือเกิดความไม่เข้าใจ คนจึงมักแก้ปัญหาเองโดยที่ไม่แน่ใจว่าเป็นทางแก้ที่ถูกต้อง จนอาจสายไปสำหรับบางปัญหา

.

“พื้นฐานความเข้าใจในเรื่องเพศของสังคม โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติและการรังเกียจผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นปัญหาสำคัญ เพราะนำไปสู่การไม่ตรวจเลือดของคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งการไม่ตรวจเลือดคือปัญหาสำคัญ และเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เมื่อไม่มีการตรวจเลือด ก็เท่ากับไม่มีการปรึกษา ไม่มีการเข้ารับยา PrEP และ PEP ทำให้ปัญหาเอดส์ในไทยยังคงเรื้อรัง เพราะคนกลุ่มเสี่ยงไม่รู้ผลเลือดและไม่มีการป้องกัน กลายเป็นว่าเกิดการมีเพศสัมพันธ์อย่างไม่ปลอดภัยมากขึ้น

.

“มีหลายเคสที่เข้ามาขอรับคำปรึกษาแต่ไม่อยากตรวจเลือด บางคนกลัวผลเลือดมากกว่าการติดเชื้อเอดส์ เพราะสำหรับเขาแล้ว เมื่อตรวจและพบว่าติด ก็คือต้องทนรับสภาะถูกรังเกียจจากสังคม ซึ่งคนบางส่วนยอมตายด้วยโรคเอดส์ดีกว่าต้องมนถูกสังคมตีตราว่าเป็นเอดส์”

.

ด้าน คุณเทิดชัย สัตยพานิช เจ้าหน้าที่วิชาการอาวุโส โครงการ EpiC ประเทศไทย กล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่านิยมของ PrEP และ PEP ในไทยยังมีน้อย เพราะคนไม่ตรวจเลือดหรือกลัวผลเลือด ซึ่งการที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ตรวจเลือด เป็นเพราะกลัวกลัวการถูกรังเกียจและการถูกเลือกปฏิบัติจากคนในสังคม

.

คุณเทิดชัยกล่าวเสริมว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนเกิดความเข้าใจ กับช่วยให้การเข้าถึงยา PrEP และ PEP เพิ่มมากขึ้น คือสื่อและการประชาสัมพันธ์ หากมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี และเข้าถึงผู้คนได้อย่างหลากหลายและทั่วถึง จะทำให้ผู้คนเข้าใจและเข้าถึงยา PrEP และ PEP มากขึ้น รวมถึงช่วยสร้างค่านิยมในเรื่องเพศที่ดี ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเลือกปฏิบัติในสังคมหรือการถูกรังเกียจลงได้ และทำให้คนกล้าที่จะเข้าถึงการให้บริการยา PrEP และ PEP มากยิ่งขึ้น

.

“สื่อมีส่วนสำคัญมาก ๆ ในการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ PrEP และ PEP ยิ่งประชาสัมพันธ์ได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะคนจะเข้าใจและเข้าถึงมาก ยุคนี้คือยุคของสื่อ จึงควรมีการนำ PrEP และ PEP เข้าไปในสื่อกระแสหลักเหมือนกับในต่างประเทศ เพื่อทำให้ Prep และ PEP กลายเป็นยาทั่วไปที่ใช้ในการป้องกันโรคเอดส์ ไม่ใช่ยาที่ถูกมองว่าใช้เฉพาะกับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเรื่องทางเพศเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”

.

สร้างความเข้าใจ ส่งเสริมการเข้าถึง ดึงค่านิยม PrEP และ PEP

.

มีหลากหลายปัจจัยที่ทำให้ยา PrEP และ PEP ไม่เป็นที่นิยม ไม่ว่าจะเป็นการไม่อยากตรวจเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องเพศของคนในสังคมไทย ค่านิยมที่มักมองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่น่าอาย การเลือกปฏิบัติและการรังเกียจผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมไปถึงปัจจัยภายนอก นั่นคือ การมีสถานบริการไม่เพียงพอ และไม่ครอบคลุม กระจุกตัวอยู่ในเฉพาะพื้นที่ ทำให้ผู้ที่ต้องการรับบริการเข้าถึงยาก

.

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นความท้าทายของคนที่ทำงานบริการเกี่ยวกับโรคเอดส์ ที่จะพยายามหาทางแก้ไขปัญหาการไม่นิยมใช้ยา PrEP และ PEP ในไทย เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น และเป็นไปตามแผนเป้าหมายในการยุติโรคเอดส์ของประเทศไทย แต่หากมองอีกด้าน ผู้รับบริการและคนในสังคม อาจยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทมากพอในการแก้ไขปัญหา

.

โรคเอดส์ถือเป็นปัญหาระดับชาติที่คนในประเทศควรร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อผลลัพธ์ทั้งในเรื่องสุขภาพและเรื่องของการประหยัดงบประมาณ หากดูค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโรคเอดส์ ปี พ.ศ. 2562 ใช้งบประมาณถึง 9,268 ล้านบาท เป็นงบประมาณในประเทศถึง 8,502 ล้านบาท เห็นได้ชัดเจนว่าต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นความร่วมมือจากหลายส่วนหลายองค์กรจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่ปล่อยให้เป้นหน้าที่ของภาครัฐ องค์เอกชน หรือผู้มีความเสี่ยงเพียงอย่างเดียว หากแต่ทุกคนในสังคมควรมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาี้ร่วมกัน

.

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจในเรื่องยา PrEP และ PEP รวมไปถึงการสร้างพื้นความเข้าใจเรื่องเพศในสังคมไทย ให้เป็นเรื่องที่สามารถพูดคุยปรึกษากันได้ทั่วไป ขณะที่ผู้ให้บริการต้องส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงสถานบริการอย่างครอบคลุม และให้บริการอย่างเป็นความลับ ง่าย สะดวก รวดเร็ว เพื่อเป็นการจูงใจให้คนใช้ยา PrEP และ PEP เช่นเดียวกับสื่อที่ควรเข้ามามีบทบาทในการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้คนเกิดความเข้าใจ ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าถึง และช่วยดึงค่านิยมของยา PrEP และ PEP ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีลงตามเป้าหมายที่วางไว้

.

ข้อมูลอ้างอิง

  • นักศึกษาหนุ่ม อายุ 20 ปี ผู้เคยใช้บริการคลินิกนิรนาม
  • เทิดชัย สัตยพานิช เจ้าหน้าที่วิชาการอาวุโส โครงการ EpiC ประเทศไทย
  • ฐาปนา ปาสันทราย เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาด้าน HIV มูลนิธิเอ็มพลัส
  • ศูนย์รวมข้อมูลสาระสนเทศด้านเอชไอวีของประเทศไทยิ (2022). คาดประมาณผู้ติดเชื้อเอชไอวี. ที่มา https://hivhub.ddc.moph.go.th/epidemic.php
  • AVAC (2022). PrEP Initiations by Country Worldwide. ที่มา https://www.avac.org/infographic/prep-initiations-country-worldwide
  • กรมควบคุมโรค (2564). แนวทางการจัดบริการ ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ปี 2564. ที่มา http://www.prepthai.net/Paper/PrEP_Guidelines.pdf
  • PrEpwatch (2564). Global Tracking (Thailand). ที่มา https://www-prepwatch-org.
  • กรมควบคุมโรค (2564). การศึกษารูปแบบการจัดบริการ PreP ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในระบบสาธารณะสุข. ที่มา http://www.prepthai.net/Paper/PrEP_Guidelines.pdf

.

.

เรื่อง : ภัสร์ฐิตา พงศ์ถิรวิทย์

ภาพ : สำนักข่าวอ่างแก้ว

บทความนี้เป็นผลงานของนักศึกษากลุ่มวิชาวารสารศาสตร์บูรณาการ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest

ทำไม PrEP และ PEP ถึงไม่ Pop? : เมื่อกลุ่มเสี่ยง ‘เข้าไม่ถึง’ และ ‘ไม่อยากเข้าถึง’ ยาต้าน HIV

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Newsletter
Lorem ipsum dolor sit amet conse ctetur adipisicing elit, sed do eiusmod.